Last Updated on 01/27/2023 by admin
ฝั่งของ Intel เอง หลังจากปล่อย CPU Intel Gen 13 ในเดสก์ท็อปออกมาในตลาดได้พักหนึ่งแล้ว ล่าสุดก็ถึงคิวของชิปสำหรับโน้ตบุ๊กในโค้ดเนม Raptor Lake ออกมาบ้างแล้วในงาน CES 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นการอัปเกรดขึ้นจาก Gen 12 ในหลายด้าน เช่น ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น รองรับการเชื่อมต่อ Bluetooth LE ที่กินไฟน้อยลง เป็นต้น โดยมีการแบ่งกลุ่มของ CPU ตามประสิทธิภาพ การใช้พลังงาน และรูปแบบการใช้งานที่เหมาะสมออกมาเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน ซึ่งในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักชิปแต่ละกลุ่ม และดูว่าชิปรุ่นไหนที่น่าสนใจบ้าง
ในเบื้องต้น จะมีการกลุ่ม CPU Intel Gen 13 ออกเป็น 4 กลุ่ม คือ HX, H, P และ U ที่จะไปเป็นตัวอักษรห้อยท้ายของชื่อรุ่น CPU ด้วย เพื่อความสะดวกในการจดจำ โดยจุดเด่นคร่าว ๆ ที่น่าสนใจของแต่ละกลุ่มก็มีดังนี้
- HX Series – เน้นความแรงสุด มีค่า TDP ต่ำสุดที่ 55W สูงสุด 157W ทั้ง i5, i7 และ i9
- H Series – ประสิทธิภาพดี ครบเครื่อง ค่า TDP ต่ำสุด 45W สูงสุด 115W
- P Series – เน้นสำหรับเครื่องที่ต้องการความบางเบา ใช้งานคล่องตัว ค่า TDP ต่ำสุด 28W สูงสุด 64W รองรับ vPro ทุกรุ่น
- U Series – สำหรับเครื่องที่ต้องการความบางเบามาก แบตใช้ได้นาน ค่า TDP ต่ำสุด 15W สูงสุด 55W
ด้านของการรองรับแรม แม้จะเป็น Gen 13 แล้วก็ตาม แต่ Intel ก็ยังออกแบบให้รองรับได้ทั้งแรม DDR5 และ DDR4 ได้ในทุกรุ่น ในแง่หนึ่งก็อาจจะทำให้ต้องเช็คสเปคในตอนซื้อให้ดี ๆ จะได้เลือกรุ่นโน้ตบุ๊ก หรืออัปเกรดแรมได้ตรงตามความต้องการ ซึ่งก็จะเพิ่มความลำบากนิดนึงเมื่อเทียบกับฝั่ง AMD ที่แยกกันชัดเจนกว่า แต่ในอีกแง่หนึ่งก็น่าจะช่วยเรื่องการคุมราคาต้นทุนเครื่องได้เหมือนกัน เช่น แบรนด์ผู้ผลิตอาจจะเลือกจับคู่ชิป Gen 13 กับแรม DDR4 เพื่อให้ได้โน้ตบุ๊กสเปคดีราคาย่อมเยาก็ได้ ซึ่งประสิทธิภาพของแรม DDR4 นั้นก็ยังยอดเยี่ยมอยู่ ใช้งานไปได้อีกหลายปีแน่นอน เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเน้นปริมาณแรมในเครื่องเยอะ ๆ มากกว่าเน้นความเร็วแรม เป็นต้น
เกริ่นมาประมาณหนึ่งแล้ว คราวนี้เรามาเจาะในแต่ละกลุ่มกันบ้างครับ
กลุ่ม Intel Gen 13 HX Series เน้นแรง เล่นเกม ทำงานหนัก
กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่ม CPU Intel Gen 13 ที่สเปคแรงสุดสำหรับชิปในโน้ตบุ๊ก โดยเริ่มมาตั้งแต่ Core i5 ไปจนถึง Core i9 เลย ซึ่งไฮไลท์ที่น่าสนใจคือกลุ่มของ Core i9 ที่ใส่คอร์ประมวลผลรวมมาสูงถึง 24 คอร์ แบ่งเป็น P-Core ที่เน้นความแรงถึง 8 คอร์ และ E-Core สำหรับงานทั่วไป งานเบื้องหลังอีก 16 คอร์ รองรับการทำงานแบบมัลติทาสก์ซ้อนกันได้ดี เช่น อาจจะเป็นการเล่นเกมพร้อมสตรีม พร้อมเปิดห้องแชตใน Discord ไปพร้อมกันก็จะทำได้สะดวกยิ่งขึ้น
ด้านของสิ่งที่พัฒนาขึ้นมา เมื่อเทียบกับ Gen 12 ที่เห็นชัดสุดตามที่ Intel ประกาศก็เช่น ประสิทธิภาพการประมวลผลของ Core i9 เทียบกับรุ่นก่อนหน้าทั้งแบบ single thread ที่ดีกว่าเดิมสูงสุด 11% และแบบ multitask ที่สูงขึ้นกว่าเดิมสูงสุดถึง 49% ประสิทธิภาพในด้านการเรนเดอร์สามมิติก็ดีขึ้น ตอบโจทย์การใช้งานด้านกราฟิก งานคอนเทนต์ครีเอเตอร์แบบเต็มตัว รวมถึงการเล่นเกมก็สามารถทำเฟรมเรตเฉลี่ยได้ดีกว่ามากสุดถึง 12% ในหลาย ๆ เกม
สำหรับรหัสเลขรุ่น CPU แน่นอนว่าทุกรุ่นจะขึ้นต้นด้วย 13 ที่บอก gen และลงท้ายด้วยชื่อซีรีส์อย่าง HX แต่จะมีเลข 3 ตัวที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งใช้เป็นเลขแบ่งรุ่นย่อยลงไปอีกทีครับ ทีนี้แม้จะดูเหมือนว่าเลข 3 ตัวนั้นค่อนข้างใกล้กันอย่าง i7-13700HX กับ i7-13650HX รวมถึงราคาโน้ตบุ๊กที่ออกมานั้นอาจจะใกล้เคียงกันด้วย คล้ายกับใน Intel Gen 12 แต่พอเทียบสเปคจริง ๆ ก็ต้องบอกว่ามันมีรายละเอียดที่ต่างกันพอสมควรทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นจำนวนคอร์ที่น้อยกว่า ซึ่งส่งผลถึงความเร็วที่ต่างกันด้วย จำนวนหน่วยประมวลผลกราฟิกก็ต่างกันเป็นเท่าตัว ในขณะที่การกินไฟนั้นไม่ได้ต่างกันมากนัก ดังนั้นถ้าใครต้องการโน้ตบุ๊กสเปคแรง ๆ ที่ใช้ชิปในกลุ่ม HX ก็อาจจะต้องเทียบรหัสรุ่น CPU เพื่อมาเช็คสเปคโดยละเอียดกันอีกทีนะครับ เพื่อที่จะได้ชิปรุ่นที่ตรงโจทย์ที่สุด
อย่างถ้าต้องการโน้ตบุ๊กเกมมิ่ง ที่สามารถสตรีมไป เล่นไปได้สะดวก ก็คงต้องมองหาโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิปที่มีคอร์และหน่วยประมวลผลกราฟิกเยอะหน่อย เพื่อช่วยในการสตรีม เช่น i7-13700HX ขึ้นไป หรือถ้าจำกัดงบนิดนึงก็เลือกเป็น i5-13600HX ที่มีคอร์กราฟิกเยอะกว่ารุ่นอื่นนิดนึง แต่ถ้าอยากได้มาเล่นเกมอย่างเดียว หรือใช้ทำงานเป็นหลัก แบบที่จะใช้คอร์พิเศษอย่าง CUDA ของชิปการ์ดจอแยกในการประมวลผลมากกว่าอยู่แล้ว ก็อาจจะขยับลงมาเป็น i7-13650HX, i5-13600HX หรือ i5-13500HX ก็ยังสบาย ๆ
แต่อย่างไรก็ตาม โน้ตบุ๊กกลุ่มที่ใช้ชิป HX-series นี้ บอกเลยว่าราคาในไทยคงไม่เบาแน่นอน เพราะอย่างรุ่นที่ใช้ชิป H-Series ยังเก็งว่าน่าจะเปิดราคามาราว ๆ 4x,xxx บาทขึ้นไปเลย ด้วยความที่นอกจาก CPU จะเป็นกลุ่มท็อปแล้ว การ์ดจอ ระบบระบายความร้อน จอเองก็ต้องยกระดับมาให้สมกับเป็นโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิประดับท็อปตามกันมาด้วยอยู่ดี เราเลยน่าจะได้เห็นชิป HX อยู่ในโน้ตบุ๊กราคาเริ่มต้นหลายหมื่น ถึงเฉียดแสนซะมากกว่า
กลุ่ม Intel Gen 13 H Series เน้นประสิทธิภาพครบ ๆ เล่นเกม ทำงานคล่องตัว
มาถึงกลุ่ม CPU Intel Gen 13 ที่เราน่าจะได้เจอกันเยอะสุดในกลุ่มเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก และโน้ตบุ๊กที่เน้นประสิทธิภาพ เน้นความครบเครื่องสำหรับการทำงานที่ขายในไทยในปีนี้ครับ นั่นคือซีรีส์ H ซึ่งก็จะเห็นได้จากการแบ่งรุ่นย่อยภายในของแต่ละกลุ่ม Core ที่ค่อนข้างเยอะซักนิดนึง ควบคู่กับสเปคที่ต่างกันไป เช่น จำนวนคอร์/เธรด ความเร็ว และก็ระดับของ vPro ที่รองรับ โดยในด้านประสิทธิภาพโดยรวม ทาง Intel บอกว่าพัฒนาขึ้นจากรุ่นเก่ามากสุด 10-11% ในกลุ่ม Core i9 ส่วนด้านของกราฟิกก็มีการตีบวกให้กับ Intel Iris Xe ด้วยประมาณนึง ช่วยให้สามารถเล่นเกมแบบไม่เสียบปลั๊กได้นานขึ้นในบางเกม เฟรมเรตเพิ่มขึ้นด้วยเทคโนโลยี XeSS Super Sampling เป็นต้น
เรื่องเลขชื่อรุ่นของ H-Series นี้ก็จะมีที่เพิ่มขึ้นมานิดนึง คือรุ่นที่ลงท้ายด้วยเลข 5 เช่น i7-13705H ที่เมื่อเทียบกับรุ่นใกล้เคียงกันอย่าง i7-13700H นั้น รวมถึง i5-13505H กับ i5-13500H จะพบว่าสเปคแทบไม่ต่างกันเลย จำนวนคอร์ ความเร็วนั้นเท่ากันหมด แต่มาต่างตรงที่รุ่นที่ไม่มี 5 จะรองรับ Intel vPro ระดับ Essentials ด้วยในตัว ซึ่งจะไปมีผลกับการใช้งานในระดับองค์กรมากกว่า เช่น ช่วยให้สามารถจัดการดีไวซ์ในองค์กรได้สะดวกขึ้น แต่สำหรับระดับ Essentials ก็จะมีฟังก์ชันที่น้อยกว่า vPro Enterprise อยู่ประมาณนึง ซึ่งถ้าสำหรับกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป ตรงนี้ก็ไม่จำเป็นต้องหยิบมาพิจารณาก็ได้ครับ
แต่ทีนี้มันจะเริ่มมีหมายเหตุเข้ามาครับ คือในตารางจะมีบางรุ่นที่มี * ต่อท้ายชื่อ ได้แก่ i9-13905H, i7-13705H และ i5-13505H สังเกตว่าจะเป็นรุ่นที่ลงท้ายด้วยเลข 5 ทั้งหมด ชิปทั้งสามรุ่นนี้จะเรียกว่าเป็นกลุ่มชิป Type 4 ที่มีขนาดแพ็คเกจชิปเล็กกว่าชิปรุ่นอื่นในกลุ่มเดียวกัน คือมีขนาดแค่ 40mm x 25mm เท่านั้น ในขณะที่รุ่นอื่นจะอยู่ที่ 50mm x 25mm โดยมีการแยกโมดูลการเชื่อมต่อ Thunderbolt 4 และส่วนจัดการหน่วยความจำบางส่วนออกไปใช้เป็นโมดูลแยกแทน แต่จุดที่น่าสนใจคือ ชิปสามรุ่นนี้ จะรองรับเฉพาะแรม LPDDR5 เท่านั้น ในขณะที่ชิปรุ่นอื่นที่เหลือ จะรองรับทั้ง DDR4 และ DDR5 ซึ่งก็แล้วแต่ทางแบรนด์ผู้ผลิตโน้ตบุ๊กว่าจะเลือกใช้แรมแบบใด ความเห็นส่วนตัว ผมมองว่าน่าจะเป็นการออกแบบเพื่อเน้นลดขนาด ลดความร้อนของชิปลง เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในโน้ตบุ๊กสายบางเบาได้ด้วย
จุดต่อมาที่น่าสนใจของ H-Series ก็คือมีรุ่น unlocked อย่าง i9-13900HK มาให้ด้วย ซึ่งน่าจะจัดเป็นรุ่นท็อปสุดสำหรับโน้ตบุ๊กทั่วไปประจำรุ่นนี้เลยก็ว่าได้ จุดเด่นเลยก็คือความสามารถในการปลดล็อกค่าตัวคูณของ CPU เพื่อการโอเวอร์คล็อกได้ แน่นอนว่าคงน่าจะมีเฉพาะในเกมมิ่งโน้ตบุ๊กระดับท็อปที่มาพร้อมระบบระบายความร้อนแบบจัดเต็ม ส่วนอีกรุ่นที่เราอาจจะได้เห็นอยู่ในทั้งโน้ตบุ๊กกลุ่มผู้ใช้ทั่วไป และสำหรับการใช้งานระดับองค์กรที่ต้องการเน้นประสิทธิภาพสูง แต่ก็ต้องการฟีเจอร์ด้านความปลอดภัย การจัดการภายในที่สะดวกด้วย ซึ่งที่ผ่านมามักจะมีช่องว่างตรงนี้อยู่เสมอ รอบนี้ Intel ก็มี i7-13800H ซึ่งรองรับ Intel vPro ระดับ Enterprise มาด้วย หรือถ้าเป็นรุ่นรองลงมาก็จะมี i5-13600H นั่นเอง
ถ้าให้เลือกชิปรุ่นที่น่าสนใจ และมีความเป็นไปได้ว่าจะมาทำตลาดโน้ตบุ๊กในไทย ส่วนตัวผมมองว่าเป็น i5-13500H, i5-13600H, i7-13700H และก็ i9-13900H ครับ ด้วยประสิทธิภาพที่ครบครันเมื่อเทียบกับรุ่นย่อยอื่น ๆ ในกลุ่มคอร์เดียวกัน พร้อมด้วยความเร็วสูงสุดที่เพิ่มขึ้นจากรุ่นระดับเดียวกันใน Gen 12 ด้านกราฟิกก็ใช่ย่อย ด้วยจำนวนหน่วยประมวลผลกราฟิกที่สูงพอสำหรับการใช้งานทั่วไป เล่นเกมได้พอประมาณ ตอบโจทย์สำหรับโน้ตบุ๊กสายทำงานแบบแทบไม่ต้องมีการ์ดจอแยก ในระดับราคาสองหมื่นกลาง ๆ ขึ้นไปได้ดีทีเดียว รวมถึงใช้กับในเกมมิ่งโน้ตบุ๊กรุ่นเริ่มต้น ไปจนถึงรุ่นราคาราว ๆ 50,000 บาทได้สบายเลย ซึ่งเราน่าจะเห็นออกมาฟาดฟันราคากับกลุ่มเครื่องที่ใช้ชิป AMD Ryzen 7000 series รหัสลงท้าย HS ได้สนุกทีเดียว
กลุ่ม Intel Gen 13 P Series สำหรับโน้ตบุ๊กบางเบาพิเศษ พร้อมประสิทธิภาพสูง
ในกลุ่มนี้ก็เข้าใจง่ายเลยครับ ด้วยแนวทางที่ยังคงเหมือนกับชิป P-series ใน Gen 12 เลย คือเน้นเอามาใส่ในโน้ตบุ๊กสายบางเบาพิเศษ ที่เน้นความพรีเมียมเพิ่มขึ้นมากว่าปกตินิดนึง ให้ประสิทธิภาพสูง ใช้งานแบตได้นาน ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การทำงานแบบไฮบริดเต็มตัว เปิดเครื่องไว ชาร์จเร็ว เป็นต้น โดยชิป P-series ก็จะมีค่า TDP เริ่มต้นที่ 28W สูงสุด 64W เท่ากับใน Gen 12 ทุกรุ่นรองรับ Intel vPro แต่ก็จะมีการแยกระดับกันเล็กน้อย ซึ่งก็จะตอบโจทย์ที่ต่างกันระหว่างรุ่น vPro Essentials สำหรับใช้งานทั่วไปกับรุ่นที่ออกแบบมาสำหรับใช้งานในระดับองค์กรอย่าง vPro Enterprise ที่มีฟีเจอร์ด้านความปลอดภัย และการจัดการดีไวซ์ที่เหนือกว่า
สำหรับกลุ่มของผู้ใช้งานทั่วไป เราน่าจะได้พบกับโน้ตบุ๊กที่เลือกใช้ชิป i5-1340P และ i7-1360P มากกว่าครับ ด้วยสเปคของตัวชิปที่ลงตัวกับการใช้งานระดับ consumer ทั่วไป ในขณะที่ชิปอีกสองรุ่นที่เหลือที่รองรับ vPro ระดับ Enterprise น่าจะไปลงอยู่ในโน้ตบุ๊กที่ออกแบบมาสำหรับระดับ commercial เป็นหลักมากกว่า ซึ่งสำหรับการเลือกโน้ตบุ๊กทำงาน ก็ต้องไปพิจารณาสเปคในจุดอื่น ๆ ด้วยอยู่ดี เช่น หน้าจอ แบต พอร์ตเชื่อมต่อ รวมถึงการ์ดจอแยก (ถ้ามี) แต่ถ้างานที่ใช้ เป็นงานที่ต้องการพลังกราฟิกในตัว CPU ที่สูงหน่อย ก็แนะนำว่าควรจะเลือก i7 เป็นหลักไว้ก่อนเลย ด้วยจำนวนของหน่วยประมวลผลกราฟิกของ Iris Xe ที่มากกว่า i5 อยู่ถึง 16 หน่วย
โน้ตบุ๊กที่คาดว่าน่าจะเลือกใช้ชิปซีรีส์ P ก็น่าจะเป็นโน้ตบุ๊กสายบางเบา ประสิทธิภาพเหมาะสำหรับการทำงาน พกพาสะดวก ใช้แบตได้นาน ราคาเริ่มต้นตั้งแต่สองหมื่นกลาง ๆ ขึ้นไป และอาจไปถึงระดับโน้ตบุ๊กบางเบาระดับพรีเมียมของแต่ละแบรนด์ โน้ตบุ๊กสำหรับสายผู้บริหาร เป็นต้น ซึ่งเราน่าจะได้เห็นการโฆษณาว่ามาพร้อมกับมาตรฐาน Intel Evo เพื่อการันตีทั้งด้านประสิทธิภาพ การตอบสนองที่รวดเร็ว การรองรับการใช้งานร่วมกับแอปต่าง ๆ การเชื่อมต่อความเร็วสูง แบตเตอรี่ที่ใช้งานได้นาน รวมถึงฟีเจอร์เสริมต่าง ๆ ที่จะช่วยเพิ่มประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับผู้ใช้ อีกกลุ่มที่น่าจะได้เห็นการนำชิปซีรีส์ P ไปใช้ก็เครื่องเดสก์ท็อปแบบออลอินวัน ที่เน้นความบางของตัวเครื่อง
กลุ่ม U Series เน้นกินไฟต่ำ ราคาสบายกระเป๋า ใช้แบตได้นาน
กลุ่มสุดท้ายของชิป Intel Gen 13 สำหรับโน้ตบุ๊กก็คือซีรีส์ U ที่ออกแบบมาสานต่อคอนเซ็ปท์รุ่น U ที่คุ้นเคยกันดี โดยจุดที่น่าสนใจคือได้มีการปรับชื่อแบรนด์ Pentium ออก โดยเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่าเป็น Intel Processor U300 ไปเลย แบบไม่มีคำว่า Core อยู่ในชื่อ ซึ่งสเปคของตัวชิปก็จะให้มา 5 คอร์ 6 เธรด แบ่งเป็น 1P+4E เน้นการทำงานแบบเบา ๆ ใช้งานพื้นฐานทั่วไป เจาะกลุ่มโน้ตบุ๊กราคาประหยัด คาดว่าน่าจะเปิดราคาเริ่มต้นไม่ถึง 10,000 บาท
ส่วนถ้าขยับขึ้นมาในซีรีส์ Core ก็จะมี 3 ระดับตามปกติ นั่นคือ Core i3, i5 และ i7 โดยจะมีคอร์ประสิทธิภาพสูง (P core) สูงสุด 2 คอร์เท่านั้น แล้วไปเน้นปริมาณ E core ที่ประสิทธิภาพลดหลั่นกันลงมา แต่เน้นการประหยัดพลังงานเป็นหลัก ด้านของแรม ชิปกลุ่มนี้ก็จะรองรับได้ทั้งแบบ DDR5 และ DDR4 เช่นกัน แล้วแต่ว่าทางผู้ผลิตโน้ตบุ๊กจะเลือกใช้แรมประเภทใด ซึ่งในช่วงแรกนี้ ถ้าเป็นโน้ตบุ๊กรุ่นราคาเบา ๆ ก็น่าจะใช้เป็นแรม DDR4 เป็นหลักไปก่อน
ชิปรุ่นที่น่าจะได้รับความนิยมในกลุ่มโน้ตบุ๊กราคาไม่แพงตามสไตล์ของชิปรหัส U คาดว่าน่าจะเป็น i3-1315U, i5-1335U และก็ i7-1355U ที่เป็นรุ่นกลางของในแต่ละกลุ่ม Core เดียวกัน เนื่องจากชิปรุ่นสูงสุดในกลุ่ม i5 และ i7 นั้น จะเป็นชิปที่รองรับ Intel vPro Enterprise ที่เหมาะกับการใช้งานระดับองค์กรมากกว่า ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็น ส่วน i3-1305U นั้น ส่วนตัวผมมองว่ามันค่อนข้างใกล้เคียงกับ Intel U300 พอสมควร ซึ่งอาจทำให้ลูกค้าเลือกที่จะมองข้าม แล้วไปตัดสินใจระหว่างเลือกรุ่นสูงขึ้นที่ใช้ i3-1315U ที่แม้จะมีความเร็วเริ่มต้นที่ต่ำกว่ากันนิดนึง แต่ก็ได้ P Core เพิ่มขึ้นมา หรือไม่ก็เป็นรุ่นราคาเบาสุดที่ใช้ Intel U300 ไปเลยดีกว่า หากเป็นในกรณีที่มองเรื่องการจำกัดงบประมาณเป็นปัจจัยหลัก
โดยคาดว่าเราน่าจะได้เห็นเครื่องที่ใช้ชิป Intel Gen 13 U-series เป็นกลุ่มโน้ตบุ๊กราคาประหยัด เริ่มตั้งแต่ราคาไม่ถึงหมื่นไปจนถึงสองหมื่นบาท หรืออาจจะไปอยู่ในรุ่นที่ต้องการฮาร์ดแวร์ที่ประหยัดพลังงานมากเป็นพิเศษ เช่นกลุ่มโน้ตบุ๊ก 2-in-1 ที่ใช้ได้ทั้งเป็นโน้ตบุ๊กและแท็บเล็ตในเครื่องเดียว เพื่อให้ใช้แบตได้ยาวนานมาก ๆ และมีความร้อนสะสมในระหว่างใช้งานที่ต่ำ เพราะด้วยค่า TDP เพียง 15-55W เท่านั้น และอีกกลุ่มที่เป็นไปได้คือกลุ่มเครื่องเดสก์ท็อปแบบออลอินวัน ในรุ่นที่เน้นที่เน้นทำราคาไม่สูงมาก ตัวเครื่องบาง ๆ เป็นต้น
เราน่าจะเริ่มได้เห็นโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิป Intel Gen 13 พร้อมวางจำหน่ายในไทยได้ในเร็ว ๆ นี้ โดยคาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มของซีรีส์ H สำหรับโน้ตบุ๊กประสิทธิภาพสูง โน้ตบุ๊กเกมมิ่ง ในราคาเริ่มต้นตั้งแต่สองหมื่นกลาง ๆ ขึ้นไป และก็กลุ่มของซีรีส์ U ในโน้ตบุ๊กราคาประหยัด เริ่มตั้งแต่หมื่นต้น ๆ จนถึงสองหมื่นบาทนิด ๆ เป็นหลัก เพราะทั้งสองซีรีส์นี้ ตรงโจทย์กับความต้องการในการใช้งานโน้ตบุ๊กของผู้ใช้งานในทั่วไปเกือบทั้งหมด ซึ่งก็จะออกมาชนกับ AMD Ryzen 7000 ซีรีส์ HS และ U ที่ใช้คอร์ Zen 3/3+ ได้สนุกสูสีพอดี ซึ่งสามารถเข้าไปดูบทความเกี่ยวกับ AMD Ryzen 7000 series ต่อได้ที่นี่เลย