Last Updated on 01/20/2023 by admin
ในงาน CES 2023 เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา AMD ได้เปิดตัวชิปประมวลผลชุดใหม่สำหรับโน้ตบุ๊ก/อุปกรณ์พกพา นั่นคือ AMD Ryzen 7000 mobile processsor ในสถาปัตยกรรม Zen 4, 3+ และ 3 หลังจากที่เปิดตัวชิปสำหรับเดสก์ท็อปไปเมื่อปลายปีก่อน และชิป Ryzen 7000 series ที่ใช้คอร์ Zen 2 เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ซึ่งก็แน่นอนว่าชิปรุ่นใหม่ก็ต้องมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ชัดเจนสุดก็คือการนำคอร์ในสถาปัตยกรรม Zen 4 มาใส่ในชิปสำหรับกลุ่มโมบายล์เป็นครั้งแรก แต่ก็เป็นรุ่นที่มาพร้อม * มากมายอยู่เหมือนกัน ซึ่งในบทความนี้ เราก็มีวิธีดูสเปคของ AMD Ryzen 7000 mobile พร้อมด้วยการแนะนำชิปรุ่นที่น่าสนใจ ซึ่งเหมาะกับการใช้งานแต่ละประเภทมาฝากกัน เรามาเริ่มกันจากวิธีดูสเปคก่อนเลย
ก่อนอื่นต้องบอกไว้เลยว่า แม้จะเป็นซีรีส์ AMD Ryzen 7000 mobile ที่เป็นรุ่นใหม่ล่าสุด แต่จริง ๆ แล้ว AMD ก็ยังนำคอร์ที่ผลิตในสถาปัตยกรรมรุ่นก่อนหน้ามาใช้ด้วยอยู่ดี ไล่มาตั้งแต่ Zen 3, Zen 3+ มาจนถึงรุ่นใหม่สุดอย่าง Zen 4 เลย ทำให้ได้ชิปหลากหลายรุ่นที่ตอบโจทย์ความต้องการในหลาย ๆ ด้านของผู้ใช้งานได้ค่อนข้างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นสายเน้นประสิทธิภาพ สายเน้นประหยัดพลังงาน รวมถึงสายที่ต้องการเน้นราคาประหยัด แต่ยังได้ประสิทธิภาพขั้นพื้นฐานที่ดีด้วย
ซึ่ง AMD เองก็มีแนวทางการตั้งชื่อรุ่น CPU แบบใหม่ ที่ตัวรหัสรุ่นจะช่วยบอกข้อมูลคร่าว ๆ ของชิปตัวนั้นได้ ตามภาพด้านล่างนี้เลย
ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป AMD จะใช้แนวทางการตั้งรหัสรุ่น CPU ตามนี้ครับ
- ชื่อซีรีส์ทางการตลาด – Ryzen 3 / 5 / 7 / 9
- เลขตัวแรก = เลขลำดับแทนปีที่ออก – ปี 2023 เริ่มที่เลข 7 (AMD Ryzen 7000 series) ส่วนปีถัดไปก็บวกเพิ่มไปทีละ 1
- เลขตัวที่สอง = แทนกลุ่มของซีรีส์ทางการตลาด โดย 1 กลุ่ม อาจจะมีเลขแทนได้ถึง 2 ตัว เช่น Ryzen 5 อาจจะเป็นได้ทั้ง x5xx และ x6xx
- เลขตัวที่สาม = บอกรุ่นสถาปัตยกรรมคอร์ เช่นตอนนี้เป็น Zen 4 ก็จะใช้เป็น xx4x
- เลขตัวที่สี่ = บอกระดับว่าเป็นชิปรุ่นสูงหรือรุ่นต่ำกว่า เมื่อเทียบในกลุ่มเดียวกัน เช่น 7735 ที่สเปคจะสูงกว่า 7730 เล็กน้อย
- ตัวอักษรตัวสุดท้าย = บอกระดับค่า TDP ของชิป ที่บ่งบอกการกินไฟสูงสุดได้แบบคร่าว ๆ และสื่อถึงระดับประสิทธิภาพสูงสุดได้ (ยิ่งสูง ยิ่งมีโอกาสที่จะแรงกว่า ร้อนกว่า กินไฟมากกว่า)
ถ้ายกตัวอย่างมาซักรุ่น ก็อย่างเช่น Ryzen 5 7640U ตามภาพด้านบน เราจะสามารถแยกข้อมูลออกมาได้เป็น
- ซีรีส์ทางการตลาด = Ryzen 5
- 7 = ชิปเปิดตัวในปี 2023
- 6 = อยู่ในกลุ่ม Ryzen 5
- 4 = คอร์ Zen 4
- 0 = เป็นชิปรุ่นล่างกว่า เมื่อเทียบกับชิป Ryzen 5 / คอร์ Zen 4 / ปี 2023 เหมือนกัน เช่นเมื่อเทียบกับ Ryzen 5 7645
- U = ค่า TDP อยู่ในช่วง 15-28W
ทีนี้เรามาเจาะกันบ้างว่า AMD Ryzen 7000 mobile series มี CPU รุ่นใดบ้าง โดยทาง AMD ได้แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มย่อย ดังนี้
กลุ่ม Ryzen 7000 ที่ใช้คอร์ Zen 4 รหัส HX เน้นความแรง
สำหรับชิปในกลุ่มนี้ หลัก ๆ แล้วก็คือเกิดมาเพื่อการเล่นเกม การใช้งานประสิทธิภาพสูงโดยตรง ด้วยการใช้คอร์ Zen 4 รุ่นใหม่ล่าสุด ที่ผลิตบนสถาปัตยกรรมระดับ 5nm รองรับการใช้งานร่วมกับแรม DDR5 โดยในด้านความแรง ถ้าเทียบกับ Ryzen 9 6900HX กลุ่มชิปใหม่ในซีรีส์ 7×45 จะมีประสิทธิภาพการประมวลผลแบบ single thread ที่แรงกว่าเดิม สูงสุด 18% ส่วนแบบ multi thread ก็แรงกว่าสูงสุดที่ 78% เลยทีเดียว ด้านของ GPU ในตัวทุกรุ่นจะเป็น Radeon 610M ที่เป็นสถาปัตยกรรม RDNA 2 เท่านั้น มีคอร์กราฟิกให้ 2 คอร์ เรียกว่ามีติดมาให้ใช้งานเบา ๆ เป็นหลัก เล่นเกมได้นิดหน่อย แล้วไปเน้นความแรงที่การ์ดจอแยกอีกตัวในเครื่องมากกว่า
โดยรุ่นที่น่าสนใจก็จะเป็น Ryzen 5 7645HX ที่ให้มา 6 คอร์ 12 เธรด ความเร็วพื้นฐานที่ 4 GHz แคชรวม 38MB และอีกรุ่นที่เราน่าจะได้เห็นกันในเกมมิ่งโน้ตบุ๊กตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไปก็คือ Ryzen 7 7745HX ที่มี 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็วพื้นฐานต่ำลงมานิดนึงที่ 3.6 GHz แต่สามารถบูสท์ได้สูงสุดที่ 5.1 GHz ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในเกมมิ่งโน้ตบุ๊กเป็นหลัก ด้วยความจำเป็นที่ตัวเครื่องต้องมีระบบระบายความร้อนที่ดี ฮีตซิงค์หนาซักนิดนึง เพื่อการใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนรุ่นท็อปสุดอย่าง Ryzen 9 7945HX ที่มี 16 คอร์นั้น ก็ต้องลุ้นกันซักนิดนึงว่าจะมีแบรนด์ไหนนำเข้ามาขายหรือเปล่า แต่บอกเลยว่าราคาไม่เบาแน่นอน
ทริคสั้น ๆ ในการจำแนกรุ่นของกลุ่มนี้ก็คือเลขสองตัวหลัง จะใช้เป็น 45 และรหัสลงท้ายเป็น HX ครับ
กลุ่ม Ryzen 7000 ที่ใช้คอร์ Zen 4 รหัส HS เน้นในเครื่องแรง+บางเบา
กลุ่มนี้ก็ยังคงใช้คอร์ Zen 4 เหมือนกันครับ แต่จะใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ระดับ 4nm และมีรหัสต่อท้ายเป็น HS ที่ออกแบบให้มีค่า TDP ลดลงมาจากรุ่นรหัส HX พอสมควร แต่ยังได้ประสิทธิภาพในระดับที่สูงอยู่ เหมาะสำหรับใช้ในกลุ่มเครื่องประสิทธิภาพสูงที่เน้นความบางเบา พกสะดวกด้วย ซึ่งก็ได้ทั้งโน้ตบุ๊กสำหรับเล่นเกมสายเครื่องบาง ไปจนถึงโน้ตบุ๊กสายทำงาน สายครีเอเตอร์ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานระดับมืออาชีพ ที่ต้องการความสะดวกในการทำงานทุกสถานที่ในเครื่องเดียวกัน โดยในตัวชิปจะมาพร้อม GPU ในสถาปัตยกรรม AMD RDNA 3 ที่เป็นรุ่นใหม่กว่ากลุ่มด้านบน ทำให้พอจะใช้ในการเล่นเกมได้บ้าง แต่ที่น่าสนใจคือจำนวนคอร์สำหรับด้านกราฟิกที่เพิ่มขึ้นจาก RDNA 2 อยู่พอสมควร จึงน่าจะสามารถนำมาใช้ช่วยในการประมวลผลงานบางประเภทได้อยู่เหมือนกัน โดยจากผลการทดสอบประสิทธิภาพของ AMD เอง ชิปในกลุ่มนี้มีประสิทธิภาพการทำงานด้านกราฟิกแบบ multi thread สูงกว่าชิป M1 Pro สูงสุดถึง 34% เลย นับว่าน่าสนใจมากสำหรับสายงานกราฟิก ที่ต้องการโน้ตบุ๊กทำงานที่ไม่ใช่ MacBook
ชิปในกลุ่มนี้ รุ่นที่เราน่าจะได้เห็นติดมากับโน้ตบุ๊กที่ขายในไทย ช่วงไตรมาสสองเป็นต้นไปก็คงหนีไม่พ้น Ryzen 5 7640HS ที่มี 6 คอร์ 12 เธรด ที่มีกราฟิก AMD Radeon 760M (8 คอร์) ติดมาด้วย ส่วนถ้าขยับขึ้นมานิดนึงก็จะเป็น Ryzen 7 7840HS ที่เพิ่มเป็น 8 คอร์ 16 เธรด พร้อมทั้งอัปเกรดกราฟิกเป็น AMD Radeon 780M (12 คอร์) มาให้
ทริคสั้น ๆ ในการจำแนกรุ่นของกลุ่มนี้ก็คือเลขสองตัวหลัง จะใช้เป็น 40 และรหัสลงท้ายเป็น HS ครับ
กลุ่ม Ryzen 7000 ที่ใช้คอร์ Zen 3+ ลงตัวกับโน้ตบุ๊กใช้งานทั่วไป – semi pro
ขยับลงมาที่คอร์ Zen 3+ กันบ้าง แม้จะไม่ใช่สถาปัตยกรรมล่าสุด แต่ก็ต้องบอกว่ายังมีประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยม ลงตัวสำหรับการใช้งานทั่วไป ทั้งยังได้ในเรื่องการใช้พลังงานที่ต่ำด้วย ตอบโจทย์คนที่ต้องการโน้ตบุ๊กที่ใช้แบตได้นาน ๆ ใครที่ต้องหิ้วโน้ตบุ๊กออกไปใช้งานข้างนอกบ่อย ๆ ก็เหมาะกับชิปในกลุ่มนี้มากทีเดียว โดยเราน่าจะเริ่มได้เห็นโน้ตบุ๊กที่มาพร้อมชิป AMD Ryzen 7000 series กลุ่มคอร์ Zen 3+ ภายในไตรมาสแรกของปีนี้เลย ซึ่งจะมีให้เลือกตั้งแต่ Ryzen 3 ไปจนถึง 7 อีกด้วย โดยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อยอีกที คือกลุ่มรหัส HS ที่มีค่า TDP สูงกว่า กับกลุ่มรหัส U ที่เน้นประหยัดพลังงานมากขึ้นด้วยค่า TDP ที่ต่ำกว่า
ซึ่งถ้าจับเทียบแบบรุ่นชนรุ่น เช่น Ryzen 7 7735HS ชนกับ Ryzen 7 7735U โดยเทียบเฉพาะจุดใหญ่ ๆ ทั้งสองรุ่นนี้สเปคเหมือนกันแทบจะทั้งหมดครับ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนคอร์ แคช ระดับสถาปัตยกรรมการผลิต การรองรับแรม DDR5 ไปจนถึง GPU ในตัวยังเป็นรุ่นเดียวกันเลย ต่างกันตรงค่า TDP สูงสุด และความเร็วพื้นฐานของรุ่น HS ที่จะสูงกว่ารุ่น U เท่านั้นเอง (3.2 เทียบกับ 2.7 GHZ) แต่ในด้านเทคนิคเชิงลึกต่าง ๆ อาจจะมีความต่างกันอีก เช่น การวางชิ้นส่วนภายในชิป การออกแบบตัวช่วยระบายความร้อน ดังนั้น ถ้าจะเลือกโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิปในกลุ่มนี้ ก็สามารถเลือกตามความต้องการได้เลย ถ้าต้องการแบตอึดกว่า ก็เลือกชิปรุ่นที่ลงท้ายด้วย U ส่วนถ้าไม่จำเป็นต้องแคร์เรื่องระยะเวลาการใช้งานแบต หรือถ้าต้องใช้งานที่เน้นความเร็วแบบ single core สูง ก็เลือกรุ่น HS จะตอบโจทย์กว่า (แต่อาจจะมาพร้อมราคาที่สูงกว่ากันเล็กน้อย)
สำหรับชิปในกลุ่มนี้ รุ่นที่เราอาจจะได้ผ่านตากันบ่อย ๆ คาดว่าน่าจะเป็น Ryzen 3 7335U ในรุ่นเริ่มต้น ที่น่าจะมาอยู่ในโน้ตบุ๊กราคาประมาณหมื่นกลางขึ้นไป แทนที่กลุ่ม Ryzen 5000 series นอกจากนี้ก็คงจะเป็น Ryzen 5 7535U และ Ryzen 7 7735U ที่น่าจะได้รับความนิยมพอ ๆ กันครับ สำหรับกลุ่มเครื่องราคาสองหมื่นนิด ๆ
ฝั่งของรหัส HS อันนี้น่าสนใจว่าจะเปิดราคาโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิปกลุ่มนี้มาที่เท่าไหร่ เพราะถ้าไปใกล้กับกลุ่มคอร์ Zen 4 รหัส HS ก็ต้องบอกว่าอาจจะลำบากซักนิดนึงสำหรับชิป Zen 3+ แต่ถ้าจับมาแทนที่กลุ่มเครื่องที่ใช้ชิป Ryzen 5 5600H / Ryzen 7 4800H / Ryzen 7 5700U ได้ จะน่าสนใจมากทีเดียว
ทริคสั้น ๆ ในการจำแนกรุ่นของกลุ่มนี้ก็คือเลขสองตัวหลัง จะใช้เป็น 35 และมาพร้อมกับแรม DDR5
กลุ่มที่ใช้คอร์ Zen 3 สำหรับโน้ตบุ๊กราคาเบา ๆ
ด้านของชิป AMD Ryzen 7000 series ที่ใช้คอร์ Zen 3 ก็มีเปิดตัวมาด้วยกัน 3 รุ่น แบ่งเป็น Ryzen 3, 5 และ 7 อย่างละหนึ่งรุ่นพอดี คาดว่าน่าจะมาจับตลาดในกลุ่มโน้ตบุ๊กรุ่นสำหรับใช้งานทั่วไป ราคาเริ่มตั้งแต่หมื่นต้น ๆ จนถึงเกือบ 20,000 บาท ด้วยประสิทธิภาพของชิปที่ยังใช้งานในปี 2023 ได้สบาย ไม่ว่าจะใช้เรียนออนไลน์ งานเอกสาร งานตัดต่อภาพ/วิดีโอในระดับพื้นฐาน ไปจนถึงเล่นเกมในระดับกลาง ๆ ได้สบาย ทั้งยังโดดเด่นเรื่องการใช้พลังงานที่ต่ำ เหมาะมากสำหรับโน้ตบุ๊กที่ต้องการเน้นระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ที่ยาวนานเป็นพิเศษ ด้วยค่า TDP ของชิปสูงสุดเพียง 15W
นอกจากนี้ในชิปยังมาพร้อม AMD Radeon Vega GPU ในตัว โดยจะมีจำนวนคอร์ของ GPU เองที่แตกต่างกันไป ไล่ตั้งแต่ 6, 7 และ 8 คอร์ตามลำดับขั้นของชิป ซึ่งประสิทธิภาพก็จะอยู่ในระดับที่เล่นเกมแบบปรับกราฟิกไม่สูงมากได้ ใช้ดูวิดีโอก็ลื่น ๆ ตอบโจทย์กับโน้ตบุ๊กที่ต้องการเน้นราคาประหยัดโดยไม่ใส่การ์ดจอแยกมา
ชิปที่น่าสนใจในกลุ่มนี้ ต้องบอกว่าน่าสนใจทุกรุ่นครับ เพราะมีการแบ่งตำแหน่งทางการตลาดมาชัดเจนอย่างละรุ่นเท่ากันหมด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับราคา และสเปคอื่นโดยรวมของตัวเครื่องอีกที แต่น่าจะฟาดฟันกับโน้ตบุ๊กกลุ่มชิป 12th Gen Intel ที่อาจปรับราคาลงมา เพื่อหลีกทางให้รุ่นที่ใช้ชิป 13th Gen Intel ได้สนุกทีเดียว
ทริคสั้น ๆ ในการจำแนกรุ่นของกลุ่มนี้ก็คือเลขสองตัวหลัง จะใช้เป็น 30 และเครื่องจะมาพร้อมแรม DDR4
กลุ่ม Ryzen PRO สำหรับโน้ตบุ๊กระดับองค์กร
เป็นกลุ่มของชิปที่ผู้ใช้ทั่วไปอาจไม่ได้พบกันเท่าไหร่ เพราะซีรีส์ Ryzen PRO มักจะอยู่ในโน้ตบุ๊กที่ออกแบบมาสำหรับการใช้งานระดับองค์กรมากกว่า ด้วยการเพิ่มโมดูล ชุดคำสั่งที่เพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น และรองรับการจัดการอุปกรณ์ในระดับองค์กรเข้าไป ซึ่งใน Ryzen 7000 series นี้ก็มีออกมาด้วยกัน 3 รุ่น โดยใช้คอร์ Zen 3 ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีระดับ 7nm ซึ่งถ้าดูจากชื่อก็ชัดเจนเลยว่ามันคือชิปในกลุ่มก่อนหน้า แต่เพิ่มคำว่า PRO เข้าไปนั่นเอง ส่วนถ้าเทียบสเปคลึกเข้าไปอีกนิดนึง จะพบว่า Ryzen 5 PRO และ Ryzen 7 PRO จะมีแคช L1 ที่มากกว่ารุ่นระดับเดียวกันที่เป็นคู่เทียบอย่าง Ryzen 5/7 คอร์ Zen 3 ในข้างต้นอยู่เล็กน้อย
ส่วนถ้าให้แนะนำ สำหรับการใช้งานทั่วไปในองค์กร ถ้าเป็นไปได้ก็น่าจะเริ่มที่ระดับ Ryzen 5 PRO 7530U ขึ้นไปครับ เพราะยืดหยุ่นกับการใช้งานทั่วไปที่มักมีการเปิดพร้อมกันหลาย ๆ โปรแกรมได้ดีกว่า ด้วยคอร์ประมวลผลที่มี 6 คอร์ 12 เธรด แถมยังได้แคชที่เยอะกว่า Ryzen 3 PRO เกือบเท่าตัวเลย
กลุ่ม Ryzen 7000 และ Athlon ที่ใช้คอร์ Zen 2
แถมนิดนึงครับ เพราะถือเป็น Ryzen 7000 series เหมือนกัน โดยชิปในกลุ่มนี้ เป็นชิปที่เปิดตัวมาตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ที่น่าสนใจคือมาพร้อมคอร์ Zen 2 ที่มีอายุในตลาดมาราว 3 ปีแล้ว ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมคอร์ที่อยู่ในชิป Ryzen 4000 series และ 5300U, 5500U, 5700U สำหรับโน้ตบุ๊กนั่นเอง ดังนั้นก็จัดว่ายังไม่เก่ามากนัก ด้านของประสิทธิภาพก็อยู่ในระดับที่ใช้งานทั่วไปได้อยู่แล้ว เมื่อมองว่าเป็นคอร์ประมวลผลในระดับใกล้เคียงกับโน้ตบุ๊ก AMD ที่ยังวางขายอยู่ในปัจจุบัน แถมชิปในกลุ่มนี้ยังรองรับแรม DDR5 ทั้งหมดแล้วด้วย
ชิปกลุ่มนี้ ถ้ามีมาขายในไทย เป็นไปได้ว่าน่าจะอยู่ในกลุ่มโน้ตบุ๊กราคาเกือบหมื่นถึงหมื่นต้น ๆ เน้นทำราคาเป็นหลัก เช่นโน้ตบุ๊กระดับเริ่มต้น โน้ตบุ๊กสำหรับให้เด็กใช้ประกอบการเรียน เป็นต้น
ทริคสั้น ๆ ในการจำแนกรุ่นของกลุ่มนี้ก็คือเลขสองตัวหลัง จะใช้เป็น 20 และมาพร้อมแรม DDR5
ในตารางด้านบนจะเป็นการสรุปฟีเจอร์เด่นแบบคร่าว ๆ ของชิปแต่ละรุ่นในซีรีส์ Ryzen 7000 ครับ จะมีจุดที่น่าสนใจก็เช่น
- มีเฉพาะชิป Ryzen 7000 ที่เป็นคอร์ Zen 4 และ Zen 3+ เท่านั้น ที่รองรับ USB4 แต่ก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบเครื่องของทางแบรนด์ผู้ผลิตโน้ตบุ๊กอีกอยู่ดี ว่าจะมีพอร์ต USB4 มาให้หรือไม่
- ชิป Ryzen 7×40 (คอร์ Zen 4 กลุ่ม HS) เป็นชิปที่มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมากที่สุด ทั้งโหนดการผลิตที่เล็กสุด 4nm + กราฟิก RDNA 3 + มี AI Engine ในบางรุ่นย่อย
- มีเพียง Ryzen 7×30 เท่านั้น ที่รองรับแรม DDR4
ทั้งนี้ คงต้องมารอดูกันอีกทีว่าแบรนด์ผู้ผลิตโน้ตบุ๊กจะนำรุ่นไหนมาจำหน่ายในไทยบ้าง คาดว่าน่าจะเริ่มอย่างเร็วสุดภายในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้เลย สำหรับรุ่นที่มาพร้อม Ryzen 7000 ในกลุ่มระดับกลางและกลุ่มราคาประหยัด เพราะเป็นชิปที่ยังใช้สถาปัตยกรรมคอร์เดิมอยู่ ส่วนโน้ตบุ๊กที่ใช้ Ryzen 4000 คอร์ Zen 4 คาดว่าน่าจะเริ่มเข้ามาขายในไทยตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้เป็นต้นไป
ส่วนการเลือกซื้อโน้ตบุ๊กในปีนี้ นอกเหนือจากชิปประมวลผลแล้ว พอร์ตเชื่อมต่อก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน จะมีพอร์ตไหนที่น่าพิจารณาบ้าง เข้าไปเช็คจากในบทความนี้ได้เลย